นิตยสาร e-commerce vol.109 January 2008 หัวข้อ Open source จะเข้ามามีบทบาทกับอีคอมเมิร์ซของไทยอย่างไร
นอกจากระบบพื้นฐานที่มารองรับการเติบโตและการใช้งานให้ครบวงจรแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนอีคอมเมิร์ซ นั่นคือพอร์ทัลซึ่งเป็นตลาดกลางในการซื้อขายที่สำคัญ ในรอบปีที่ผ่านมาในบ้านเราก็เกิดผู้ให้บริการตลาดกลางแบบนี้มากมายทั้งภาครัฐและเอกชน ตัวอย่างภาครัฐเช่น ตลาดกลางทรัพย์สินทางปัญญา (ipmart.moc.go.th) ของทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตลาดอุตสาหกรรมออนไลน์ (industry4u.com) ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ผู้ขายสินค้าสามารถที่จะเปิดร้านค้าเพื่อขายสินค้าโดยใช้บริการของทางเว็บไซต์ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว หลายบริษัทใช้เว็บไซต์ที่ให้บริการในลักษณะของช่องทางในการโฆษณา เพื่อเป็นประตูนำมาสู่ยังเว็บไซต์หลักของตนเปรียบเสมือนการเปิดหน้าร้านตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ หรือการเปิดร้านค้าใน ebay.com ก็เพื่อเป็นการโปรโมทไปยังกลุ่มผู้ซื้อสินค้าในต่างประเทศแทนที่จะต้องมาลงทุนทางด้านการตลาดด้วยตัวเองทั้งหมด
ในส่วนของตัวเว็บไซต์ขององค์กรต่างๆ ก็มีทางเลือกมากมายในปัจจุบันเช่นเว็บไซต์สำเร็จรูป ที่ระบบของผู้ให้บริการอย่าง ReadyPlanet หรือหากองค์กรนั้นๆ ต้องการจะสร้างเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง(Brand) ก็สามารถใช้ CMS ซึ่งเป็น Open Source Software มาพัฒนาเพื่อสร้างความแตกต่างและจุดเด่นของตนเองได้ เช่น OsCommerce หรือใช้ Mambo Open Source /Joomla ซึ่งเป็นระบบในการจัดการคอนเทนต์ แล้วติดตั้งระบบ Shopping Cart อย่างเช่น VirtuaMart ก็สามารถที่จะมีเว็บไซต์เพื่อขายสินค้ารวมทั้งยังสามารถเชื่อมต่อระบบการชำระเงินได้หลากหลาย เช่น Paypal หรือเชื่อมต่อกับธนาคารที่ตนเองใช้บริการอยู่ได้โดยตรง
หรือจะใช้ VirtuaMart เพื่อใช้แสดงรายการสินค้าของตนเองทั้งหมดเหมือนเป็นแค็ตตาล็อกสินค้า โดยไม่ต้องมีระบบตระกร้าออนไลน์ก็ได้ เช่น การขายสินค้าที่เรียกว่าอีคอมเมิร์ซ หลายคนยังเข้าใจว่าจะต้องตัดชำระเงินออนไลน์เท่านั้นจึงจะเรียกว่าอีคอมเมิร์ซ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วระบบตระกล้าออนไลน์และระบบชำระเงินเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น
หลายเว็บสามารถขายสินค้าได้โดยไม่ต้องมีระบบตะกร้าหรือระบบชำระเงินออนไลน์ สามารถนำเว็บไซต์มาเพื่อทำเป็นหน้าร้านและเป็นช่องทางเพื่อให้ผู้สนใจติดต่อกับทางผู้ขายและดำเนินธุรกรรมกันตามช่องทางปกติเช่น การโอนเงินผ่านทางธนาคาร ผ่านทาง ATM เก็บเงินปลายทางเมื่อส่งของ เป็นต้น
ตัวอย่างเว็บไซต์ที่ไม่มีระบบตะกร้าออนไลน์และขายสินค้าได้จริงเช่น สวนไม้ภูเรือ(phurualife.com) / International Airport & Hotel Supply (iash.co.th) ซึ่งใช้ Mambo Open Source (CMS) ในการทำเว็บไซต์ และใช้คอนเทนท์ในการนำเสนอตัวสินค้าและเป็นช่องทางในการให้ผู้ซื้อติดต่อกับผู้ขายหลัก จากนั้นก็เป็นขั้นตอนของการขายสินค้าที่เกิดขึ้นจริง เช่น Sale ติดต่อ ทำใบเสนอราคา การส่งสินค้า และเงื่อนไขการชำระเงินทั้งผู้ซื้อและผู้ขายก็เกิดความมั่นใจมากขึ้นในเรื่องของความมีตัวตนของกันและกัน
องค์ประกอบทั้งหมดและแนวทางในการสร้างหน้าร้านบนโลก อินเทอร์เน็ตที่กล่าวมาทั้งหมด ล้วนเป็นส่วนที่ขับเคลื่อนทำให้การขายสินค้าออนไลน์ตื่นตัว และขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในบ้านเรา สำหรับในปี 2008 คงต้องมาจับตาดูว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นหรือมีการพัฒนารูปแบบในทิศทางใด ในส่วนของพื้นฐาน (Infrastructure)นั้น ประเทศไทยค่อนข้างมีพร้อม เหลือเพียงการสร้างความเชื่อมั่นในส่วนของผู้ซื้อให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง
ทำความรู้จักกับ CMS
ระบบบริหารจัดการข้อมูลเว็บไซต์ ( Content Management System) หรือ CMS เป็นระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการพัฒนาและบริหารจัดการเว็บไซต์ โดยที่ผู้พัฒนาและอัพเดตข้อมูลในระบบไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการพัฒนาเว็บไซต์
ปัจจุบัน CMS ส่วนมากมีรูปแบบเป็น Web-Based Application ที่สามารถทำงานผ่าน Web Browserได้ ทำให้มีความสะดวกต่อผู้พัฒนาและอัพเดตข้อมูลที่สามารถอัพเดตข้อมูลบนเว็บไซต์ของตนได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ไม่จำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรมไว้บนเครื่องลูกข่าย ต่างกับการใช้งานเครื่องมือที่ใช้ออกแบบเว็บไซต์ เช่น Adobe Dreamweaver หรือ Microsoft FrontPage ซึ่งจำเป็นต้องมีการติดตั้งโปรแกรมไว้บนเครื่องที่จะใช้งานจึงจะแก้ไขเว็บไซต์ได้ ยิ่งมีจำนวนผู้เกี่ยวข้องในการแก้ไขเว็บไซต์มากเท่าใดก็ต้องมีค่าไลเซนส์ของตัว Software เพิ่มขี้นตามจำนวนผู้ใช้งาน
CMS ได้รับการเขียนมาจากหลายภาษา อาทิ JAVA,ASP,PHP เป็นต้น แต่โดยส่วนใหญ่ที่ออกมาจะเป็น PHP เนื่องจากเป็นโอเพ่นซอร์สและใช้งานง่าย โดยที่ผู้ใช้งานไม่ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง การทำงานทุกอย่างจะอยู่ที่ Web Base ทั้งหมด โปรแกรมเมอร์ก็ทำหน้าที่ดีไซน์เอาไว้แล้ว ผู้ใช้มีหน้าที่แค่ใช้งาน
สำหรับ JAVA ได้รับความนิยมน้อยที่สุด เนื่องจาก ขณะนี้ในประเทศไทยน้อยคนนักที่จะมีความชำนาญในภาษา JAVA ซึ่งการใช้ JAVA เพื่อเป็น CMS นั้น ส่วนใหญ่จะใช้ในเชิงธุรกิจมากกว่าจะทำเป็นโอเพ่นซอร์ส และที่เห็นขณะนี้บ้างก็แจกโปรแกรมให้กับกลุ่มเอ็นเตอร์ไพรซ์ แต่จะแบ่งตัวที่แจกฟรีกับตัวขาย โดยน้ำหนักที่ทำขายส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องของไลเซนส์ต่อปี มากกว่าที่จะขายตัวซอฟต์แวร์
CMS เป็นเว็บกึ่งสำเร็จรูป มีรูปแบบการบริหารจัดการข้อมูลด้านหลังทั้งหมด แทนที่โปรแกรมเมอร์หรือผู้ใช้จะมานั่งเขียนโปรแกรมทั้งหมด จุดแตกต่างที่เห็นได้เด่นชัดก็คือเรื่องของต้นทุนคือ หากเป็นเว็บสำเร็จรูปที่ทำงานอยู่บนเว็บของผู้ให้บริการต้นทุนอาจจะต่ำ ผู้ใช้อาจจะใช้พลังหรือแหล่งข้อมูลของตัวเองน้อยแต่ถ้าใช้ CMS ผู้ใช้จะสามารถตกแต่งรูปแบบบนเว็บไซต์เองได้ซึ่งหากเราไม่ได้เป็นถึงขั้นโปรแกรมเมอร์ก็ต้องลงทุนสำหรับรูปแบบของเว็บไซต์ที่มีมาให้เสร็จสรรพโดยที่เราไม่ต้องเสียเวลากับการตกแต่งเว็บไซต์ ซึ่ง CMS ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่กึ่งสำเร็จรูป ผู้ใช้ต้องรู้วิธีการปรับแต่ง และเรียนรู้การใช้งานเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการ
อีกสิ่งหนึ่งที่ต่างกันคือ ผู้ใช้สามารถปรับแต่งได้อิสระอย่างที่ต้องการให้เป็น สามารถสร้างแบรนด์และความแตกต่างของตัวเว็บไซต์ให้ต่างกับเว็บสำเร็จรูปที่มีอยู่บนโฮสต์ของผู้ให้บริการแต่ละเจ้า ซึ่งจะช่วยสร้างในเรื่องของจุดเด่นและ Brand Awareness ที่จะเกิดขึ้นด้วย รวมทั้งเรื่องของโดเมนเนม ถ้าเป็นสิ่งที่เราสามารถทำเอง เสมือนกับว่าเราเป็นเจ้าของเว็บไซต์นั้นทั้งหมดเป็นของเรา
นอกจากนี้ ยังรวมถึงความต่างในเรื่องของระยะเวลาในการพัฒนาเว็บไซต์ด้วย โดยผู้ใช้สามารถนำ CMS ไปติดตั้งที่ใดก็ได้โดยไม่ผูกติดกับผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งหรือแม้กระทั่งการนำ CMS มาเพื่อใช้งานเป็นอินทราเน็ตภายในองค์กร
CMS โดยทั่วไปจะแยกส่วนของเนื้อหาข้อมูล กับส่วนของหน้าตาเว็บไซต์ออกจากกัน ทำให้งานในการปรับเปลี่ยนแก้ไขหน้าตาเว็บไซต์ในอนาคต ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีระบบบริหารจัดงานพื้นฐานเหล่านี้มากับตัวระบบ อาทิ
- ระบบจัดงานหน้าตาเว็บไซต์ (Theme,Template)
- ระบบจัดงานเนื้อหาข้อมูล(Content)
- ระบบจัดการแถบป้ายโฆษณา (Banner)
- ระบบสมาชิก(User Management)
- สามารถพัฒนา/เพิ่มเติม ชุดโปรแกรมในการทำงานต่างๆได้ (Plugin /Component /Modules) เช่นระบบจัดการร้านค้า, ระบบห้องแสดงภาพ, ระบบกระดานสนทนา ฯลฯ
จุดหลักของ CMS จะเด่นในเรื่องของการอัพเดทคอนเทนต์ได้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องอัพโหลดทีละหน้า(Page) เพียงแต่ใส่บทความที่เราต้องการนำขึ้นเว็บก็สามารถแสดงผลหน้าเว็บได้เลยโดย CMS ที่กำลังได้รับความนิยมในบ้านเราขณะนี้ก็มีหลายโปรแกรม เช่น Mambo, Joomla, Drupa, SMF เป็นต้น
สิ่งที่ทำให้CMS ที่กล่าวถึงเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นได้ในบ้านเราหรือไม่ ก็คือ มีทีมที่จะคอยผลิตภาษาไทยมารองรับการใช้งานสำหรับคนไทยหรือไม่ หากมีชุมชนที่เข้มแข็งในการทำภาษาไทยขึ้นมาซัพพอร์ตก็จะโตขึ้นไปเรื่อยๆ เนื่องจากกลุ่มผู้ใช้นั้นส่วนใหญ่จะไม่ใช่ระดับโปรแกรมเมอร์ จะเป็นแค่ผู้ใช้ (Non-IT) หากมีภาษาไทยก็จะง่ายขึ้น แต่ถ้าเป็นระดับนักพัฒนา (Developer) จะมีความสามารถที่จะใช้ได้อยู่แล้วเพียงแค่เห็นโค้ด
ในบ้านเราก็มีการรวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาภาษาไทยและพัฒนาความามารถใหม่ๆออกมาเสริมให้ CMS อย่าง Mambo หรือ Joomla มีความสามารถมากยิ่งขึ้นและรองรับการใช้งานภาษาไทยที่สมบูรณ์ เช่น ทีมลายไทย (mamboHub.com / JoomaCorner.com) ซึ่งพัฒนาแมมโบ้ลายไทย และ จูมล่าลายไทย และยังมีบริการถามตอบผ่านทางเว็บไซต์ mambo.or.th
รู้จัก Mambo
mambo เป็นโอเพ่นซอร์ส CMS อีกตัวหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากผู้พัฒนาเว็บไซต์และผู้อัพเดตเนื้อหาอยู่ทั่วโลกสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเว็บไซต์ได้หลากหลายประเภท
จุดเด่นของแมมโบคือ เรื่องของรูปลักษณ์หน้าตาในการใช้งานที่ง่าย ต่างกับตัวอื่นที่ผู้ใช้อาจต้องมีความรู้ด้านไอทีในการติดตั้ง เช่น โปรแกรม PHP MyAdmin ต่างกับ Mambo ที่ใช้งานง่ายและแยกส่วนกันเพื่อไม่ให้สับสนระหว่างผู้ใช้ทั่วไปและในระดับของผู้ดูแลระบบ มีการแบ่งหมวดหมู่มาให้สำหรับผู้ที่ไม่ใช่ไอที เช่น แผนกมาร์เก็ตติ้ง เพื่อการอัพเดตหรือทำเว็บไซต์เอง
Mambo มีส่วนติดต่อผู้พัฒนาเว็บไซต์และผู้อัพเดตข้อมูลที่ใช้งานได้ง่าย สามารถเขียนและแก้ไขบทความในเว็บไซต์ได้ไม่ต่างกับการใช้งาน Word Processor ที่ผู้พัฒนาเว็บไซต์และอัพเดตข้อมูลส่วนมากคุ้นเคย รวมไปถึงมีการแยกส่วนโครงสร้างเนื้อหา และการแสดงผลออกจากกัน ทำให้แก้ไขส่วนต่างๆ ของเว็บไซต์ได้อย่างสะดวก มีฐานผู้พัฒนาเว็บไซต์และอัพเดตข้อมูลจำนวนมากและการพัฒนาที่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรมเสริมมากมายจากนักพัฒนาเว็บไซต์ทั่วโลก สามารถนำไปประยุกต์ให้ตรงกับความต้องการขององค์กรได้
โดยส่วนใหญ่ Mambo หรือ CMS ตัวอื่นทีเป็นโอเพ่นซอร์สจะไม่มีค่าไลเซนส์ แต่ถ้าเป็นลักษณะของนำเอามาใช้แต่ใช้งานไม่เป็น หรือต้องการให้ปรับแต่งเฉพาะส่วนเพื่อปรับให้ใช้งานกับองค์กรของเราได้ ก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องซื้อบริการในการจ้างผู้ที่จะมาดูแลในส่วนนี้ การที่ทุกอย่างฟรีทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นซอร์ฟแวร์หรือการบริการหลังการขายอื่นๆ นั้นคงน้อยนักที่จะมีความเป็นไปได้
สถานการณ์ปัจจุบันของ Mambo
ในประเทศไทยแมมโบยังมีผู้พัฒนาเว็บไซต์และผู้อัพเดตข้อมูลในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก มีการพัฒนา แมมโบ้เป็นภาษาไทยที่เรียกว่า Mambo ลายไทย รวมไปถึงมีบริการหลายชนิดจากหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็นบริการติดตั้งและดูแลระบบ Mambo ที่เซิร์ฟเวอร์ การฝึกอบรมการใช้งาน เอกสารคู่มือที่เป็นภาษาไทยและชุมชนผู้พัฒนาและอัพเดตเว็บไซต์ชาวไทยที่เข้มแข็ง
ในปัจจุบัน Mambo เวอร์ชั่น 4.5.5. และ Joomla เวอร์ชั่น 1.0.13 การใช้งานยังไม่มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดมากนัก เนื่องจาก Joomla 1.0.x พัฒนาต่อยอดมาจาก Mambo 4.5.2.3 ชุดโปรแกรมเสริม (Component / Modules) มากกว่า 90% ยังใช้งานร่วมกันได้
ในบ้านเรามีหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานขนาดใหญ่ที่หันมาใช้แมมโบ้ในการสร้างเว็บไซต์จำนวนมาก เช่น กทช. (www.ntc.or.th) ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะใช้แมมโบ้ในการสร้างคอนเทนต์หรือจะเป็น กฟผ. (www.egat.co.th) ที่ค่อนข้างลงทุนในเรื่องโอเพ่นซอร์ส ให้ความรู้และจัดอบรมพนักงานเพื่อนำโอเพ่นซอร์สมาใช้ในระดับของ OS และ Application ซึ่งทำให้ประหยัดงบประมาณค่าซอฟท์แวร์ลงไปได้เป็นจำนวนมาก และนำงบประมาณที่ประหยัดได้บางส่วนมาเป็นงบในการฝึกอบรมบุคลากรแทนนอกจากนี้บางหน่วยงานก็ใช้ลักษณะของการจ้าง Implement โดยใช้ CMS Open Source และฝึกอบรมบุคคลากรในการอัพเดตปรับปรุงข้อมูลในเว็บไซต์ได้เอง